Image default
ข่าวสาร forex

เหตุผลที่การเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯปีนี้ถึงมีความหมายต่อภาวะโลกร้อน

มี 2 เหตุผลหลักที่โลกต้องการปธน.สหรัฐฯที่ใส่ใจปัญหาภาวะโลกร้อน ประการแรกคือความมีอิทธิพลของสหรัฐฯที่มีหลาย ๆ ประเทศพร้อมจะเดินตามนโยบายของพวกเขา และสองคือสหรัฐฯเองเป็นผู้ที่สร้างมลพิษมากที่สุดอันดับสองของโลกรองจากจีน

ระหว่าง 4 ปีในยุคสมัยของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการออกนโยบายและระเบียบต่าง ๆ ที่สวนทางกับการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเขานำพาสหรัฐฯถอนตัวออกจากความตกลงปารีสที่มุ่งเน้นดูแลในเรื่องนี้

ทรัมป์ มองไม่เห็นถึงความจำเป็นในการรักษาสนธิสัญญาระดับโลกที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังเริ่มประกาศความตั้งใจที่จะถอนตัวตั้งแต่ในปี 2017 ก่อนที่สหรัฐฯจะพ้นการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการไปเมื่อวานนี้

ในขณะที่ โจ ไบเดน ได้ให้สัญญาว่า เขาจะพาประเทศกลับเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวให้เร็วที่สุดหากชนะการเลือกตั้งในปีนี้ และเขายังมีแผนในการใช้งบ 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อทำให้สหรัฐฯผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบไร้มลพิษ 100% ภายในปี 2035

จากจุดเริ่มต้นที่สหรัฐฯเข้าร่วมความตกลงปารีสในยุคสมัยของปธน. บารัค โอบาม่า ได้มีการปฏิญาณว่าจะทำการลดมลพิษในประเทศลง 26-28% เมื่อเทียบกับปี 2005 ภายในปี 2025

หากสหรัฐฯได้กลับเข้าร่วมสนธิสัญญาอีกครั้งก็มีการคาดหมายว่า ไบเดน จะต้องมีคำสั่งให้รวมงบประมาณที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดลงไปในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตัวใหม่ หากแต่ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งในปีนี้ยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญอยู่

แม้ในสถานการณ์ที่พรรคเดโมแครตยังคงรักษาอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรและบีบช่องว่างของวุฒิสภาให้ลดลงได้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ ไบเดน จะยังประสบปัญหาในการผ่านร่างกฎหมายภาวะโลกร้อนที่ครอบคลุมโดยปราศจากเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันบางส่วน

ยังมีปัญหาความน่าเชื่อถือในระดับนานาประเทศอีก หลังสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งที่สองแล้ว เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นกับพิธีสารเกียวโตโดยที่สหรัฐฯเริ่มเข้าร่วมในยุคของ บิล คลินตัน ก่อนจะหันหลังออกมาในสมัยของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

หาก ทรัมป์ ได้เป็นปธน.อีกสมัยไม่เพียงแต่จะปิดโอกาสการหวนกลับเข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังเชื่อว่า จะยิ่งมองเห็นความแตกต่างระหว่างสหรัฐฯกับประชาคมโลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

เนื่องจากปัจจุบันประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ และกลุ่มที่สร้างมลพิษมากที่สุดทั้ง จีน, อินเดีย, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, รัสเซีย และบราซิล ต่างก็พร้อมใจเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ โดยสหรัฐฯจะถูกรวมอยู่กับกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมอย่าง อิหร่าน, อิรัก, ลิเบีย และตุรกี 

นอกจากนี้ยังสามารถคาดหมายไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐที่มีความพยายามจะลดมลพิษอย่างแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กจะยังคงตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัฐบาลกลางที่คอยจะผ่อนผันมาตรการควบคุมต่าง ๆ อีกต่อไป

ในภาพรวมสหรัฐฯเป็นประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมามากที่สุดอันดับสองของโลก และการที่พวกเขาไม่สนใจจะลดปัญหาดังกล่าวก็จะกลายเป็นแรงกดดันให้กับประเทศอื่นเพิ่มขึ้นในความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายของความตกลงปารีสคือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2°C และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 1.5°C แต่จากสถานการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ขยับขึ้นมาเกิน 1°C แล้วในขณะนี้

References :

https://edition.cnn.com/2020/11/04/politics/us-exits-paris-climate-agreement-next-steps/index.html

https://edition.cnn.com/2020/11/01/world/us-election-climate-crisis-intl-dst-hnk/index.html

Related posts

ABS ประกาศ ตัวเลขการจ้างงานที่สูงกว่าคาดการณ์

Admin

ข้อมูลชี้วัดที่สำคัญประจำวันนี้ 15 June 2018 จาก Fxprimus

Admin

Fed ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น

Admin

Leave a Comment